โรคไต ใครว่า..."กินเค็มอย่างเดียว"
โรคไต คือ โรคที่ไตทำงานผิดปกติ ซึ่งไม่ได้พบเพียงแค่ในผู้สูงอายุ สามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย โรคไตสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งทางด้านพันธุกรรม พฤติกรรม และสิ่งแวดล้อม ที่พบได้บ่อยได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไตผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ภาวะนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำๆ  หรือการใช้ยาที่มีพิษต่อไต เป็นต้น ปัจจุบันพบคนไทยเป็นโรคไตมีจำนวนสูงเพิ่มขึ้นทุกปี อัตราการเสียชีวิตจากไตวายมากกว่าปีละ 10,000 คน โรคไตจึงเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน นพ. จิรัฏฐ์ สัมฤทธิวณิชชา อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคไต โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลทำให้ไตทำงานผิดปกติ ไม่ใช่เพียงการบริโภคอาหารที่รสชาติเค็มจัดเท่านั้น  แต่ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้ไตทำงานผิดปกติ โดยมากที่สุด คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่ไม่ควบคุม การกินยาที่มีพิษต่อไต การสูบบุหรี่ ซึ่งการป้องกันตนเองจากโรคไตนั้นไม่มีความซับซ้อน เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารรสเค็ม รวมถึงการระมัดระวังเรื่องการรับประทานยาที่ส่งผลต่อการทำงานของไต ได้แก่ กลุ่ม NSAIDs  คือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งใช้เป็นยาแก้ปวด หรือยาลดไข้ ตัวอย่างเช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), นาพร็อกเซน (Naproxen), เซเลค็อกสิบ (Celecoxib) เป็นต้น การใช้ยามากเกินไปและใช้ในระยะยาว อาจทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง ดังนั้นการใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และใช้ยาในขนาดต่ำสุดที่ให้ผลในการรักษา และใช้เป็นเวลาตามความจำเป็นเท่านั้น กินอย่างไรให้ห่างไกลโรคไต รสเค็มในอาหารเกิดจากโซเดียม โดยปกติแล้วผู้ใหญ่ควรได้รับโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลา หรือ ซีอิ้วขาว 5 ช้อนชา ผงปรุงรส 2 ช้อนชา หรือ ผงชูรส 3 ช้อนชา เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีเล็กน้อยในซอสต่างๆ โซเดียมไม่ได้มีแค่ในอาหารรสชาติเค็มเท่านั้น แต่ยังมีในอาหารต่างๆ ที่มีรสจัด หวานจัด เผ็ดจัด อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง อาหารกึ่งสำเร็จรูป ซุปชนิดก้อนและซอง เครื่องดื่มเกลือแร่ ขนมขบเคี้ยว จะเห็นได้ว่าในความเป็นจริงแล้วเราอาจจะบริโภคโซเดียมเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันแบบไม่รู้ตัว มีการศึกษาพบว่า หากเราได้รับโซเดียมที่มากกว่าที่ร่างกายต้องการเป็นเวลานาน จะเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตเรื้อรังตามมา การควบคุมปริมาณโซเดียมให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสุขภาพให้ห่างจากโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคไต เพราะหัวใจสำคัญของโรคนี้คือการดูแลใจใส่ในการเลือกรับประทานอาหารโดยให้ความสำคัญต่อปริมาณโซเดียมในแต่ละวัน เช่น การลดหรือเลี่ยงอาหารรสจัด การปรุงอาหารโดยใช้เครื่องปรุงที่มีโซเดียมต่ำ ไม่เติมผงชูรส ควรชิมอาหารก่อนปรุง รวมไปถึงลดการบริโภคอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารดองเค็มและการดูปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคบนฉลากอาหาร หากเป็นผู้ที่ติดรสชาติเค็ม ควรเรียนรู้ที่จะค่อยๆ ลดการบริโภคโซเดียม เพื่อปรับลิ้นให้ชินกับการได้รับอาหารที่มีรสชาติไม่จัดจนเกินไป หากปรับเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหารให้ดีขึ้นได้แล้วจะสามารถช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้ อาการแบบไหน…เสี่ยงโรคไต โรคไต เปรียบเสมือนภัยเงียบ ในระยะแรกจะไม่มีอาการ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวหากไม่ได้รับการตรวจ   แต่หากรอให้มีอาการไตอาจจะเสื่อมไปมากแล้ว และอาจจะต้องรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตไปตลอดชีวิต อาการแสดงต่างๆ ของโรคไต ได้แก่ ตัวบวม แขนขาบวม ปริมาณปัสสาวะน้อยลงกว่าปกติ ปัสสาวะสีแดง หรือสีน้ำล้างเนื้อ เหนื่อยง่าย ความดันโลหิตสูงขึ้น คลื่นไส้อาเจียน หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคไตตั้งแต่อายุน้อย “ไตเป็นอวัยวะสำคัญที่ต้องทำงานตลอดเวลา เราควรดูแล และลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคไต อยากแนะนำให้ทุกท่านดูแลรักษาสุขภาพให้ดี ทั้งการเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง หากท่านใดมีอาการผิดปกติ ควรมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรับการตรวจรักษาที่เหมาะสมโดยเร็ว หากท่านละเลยปล่อยทิ้งไว้ อาจจะทำให้โรครุนแรงมากขึ้นส่งผลให้กลายเป็นไตเสื่อมถาวรได้” นพ. จิรัฏฐ์ กล่าวทิ้งท้าย ************************************************************************** สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ : โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน โทร. 032-616-880 แผนกบริการผู้ป่วยนอก / อายุรกรรม (7.00 – 19.00 น.) โทร. 032-616-870 แผนกไตเทียม (8.00 – 17.00 น.) ข่าวสาร & โปรโมชั่น >> Line : @bangkokhuahin