"โรคหลังคลอด" ที่คุณแม่ต้องเตรียมรับมือ
ช่วงเวลาหลังคลอด คือระยะเวลาตั้งแต่ที่ทารกและรกได้คลอดออกมา จนถึงประมาณ 6 – 8 สัปดาห์หลังจากนั้น ซึ่งช่วงเวลาหลังคลอดเป็นช่วงเวลาที่ผลของการตั้งครรภ์ต่อระบบต่างๆ ของร่างกายเริ่มที่จะหายไป และกลับเข้าสู่สภาวะปกติก่อนตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามภายในเวลาดังกล่าว ทุกระบบของร่างกายอาจไม่ได้กลับสู่สภาวะเดิมเหมือนช่วงก่อนตั้งครรภ์ ทั้งหมด โดย แพทย์หญิงภัทรพร ตั้งกีรติชัย สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า ช่วงเวลาหลังคลอดเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับคุณแม่ เพราะนอกจากจะต้องดูแลลูกน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลกแล้ว ยังต้องคอยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในสภาวะต่างๆ ของร่างกายอีกด้วย ซึ่งคุณแม่แต่ท่านละท่านอาจจะมีอาการหลังคลอดที่แตกต่างกันออกไป โดยหลักๆ มักพบอาการดังต่อไปนี้ ภาวะปวดหลังคลอด เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยๆ หลังคลอด ทั้งจากการคลอดทางช่องคลอด และการผ่าตัดคลอด สาเหตุที่พบได้บ่อยเกิดจากการหดรัดตัวของมดลูก และจะปวดมากขึ้นขณะที่ลูกน้อยกำลังดูดนม เนื่องจากมีการหลั่งของฮอร์โมนออกซิโตซิน (oxytocin) โดยสามารถบรรเทาอาการได้โดยการให้ยาแก้ปวด มดลูกอักเสบ  ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บครรภ์เป็นเวลานาน น้ำเดินเป็นเวลานาน การตรวจภายในบ่อยครั้งในช่วงระหว่างรอคลอด ทารกถ่ายขี้เทาในครรภ์มารดา มีการล้วงรก การทำหัตถการช่วยคลอด หรือคุณแม่เป็นเบาหวาน ต่างก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของมดลูกอักเสบติดเชื้อ โดยจะมีอาการ มีไข้ ปวดท้องน้อย กดเจ็บบริเวณมดลูก นอกจากนี้น้ำคาวปลามีลักษณะ และกลิ่นผิดปกติ มดลูกไม่หดตัว ทำให้มีเลือดออกจากช่วงคลอดจำนวนมากตามมาได้ ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ การเจ็บเต้านม เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุให้คุณแม่หยุดให้นมลูกน้อย เกิดได้หลายสาเหตุ ได้แก่
  • การคัดตึงเต้านม เกิดจากการบวมของเนื้อเยื่อเต้านมและมีการคั่งของน้ำนม ซึ่งทำให้เกิดการเจ็บเต้านม และมีไข้ต่ำๆ วิธีรักษาที่ดีที่สุดคือ “ให้นมลูกน้อย หรือการปั๊มจนน้ำนมหมดเต้าอย่างสม่ำเสมอ” หากปล่อยให้เต้านมคัดตึงมาก หัวนมจะเรียบ (flatten) ทำให้ลูกน้อยดูดได้ยากขึ้น เนื่องจากปากของลูกน้อยจะไม่แนบสนิทดีกับลานหัวนม ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บของหัวนมตามมาด้วย แนะนำให้บรรเทาอาการด้วย “การประคบด้วยความเย็น” ร่วมกับรับประทานยาแก้ปวด แต่ไม่แนะนำให้ประคบด้วยความร้อน แม้ความร้อนอาจช่วยลดปวดและให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น แต่ก็เป็นการทำให้เนื้อเยื่อบวมมากขึ้นด้วยเช่นกัน ถ้าหากเต้านมคัดตึงเป็นเวลานานร่วมกับมีอาการบวม แดงหรือมีก้อนกดเจ็บร่วมกับมีไข้จะสงสัยภาวะเต้านมอักเสบหรือมีหนองแนะนำให้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาทันที
  • การเจ็บหัวนม เกิดจาก 2 สาเหตุหลักๆ โดยสาเหตุแรกเกิดจาก “ความไวของหัวนมที่เพิ่มขึ้น” มักจะดีขึ้นใน 4 – 7 วันแรกหลังคลอด อาการจะหายไป 30 วินาที ถึง 1 นาที หลังจากลูกน้อยเริ่มดูดนม ต่างจาก “การบาดเจ็บของหัวนม”  มักเกิดจากเทคนิคการให้น้ำนมผิดวิธี ซึ่งจะเจ็บตลอดเวลา และเจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นนานกว่า 7 วันหลังคลอด บางครั้งสัมพันธ์กับการติดเชื้ออักเสบ การรักษาควรรักษาตามสาเหตุนั้นร่วมกับการใช้ครีมทาหัวนม ตามคำแนะนำของแพทย์
ภาวะตกเลือดหลังคลอด  ภาวะที่มีการเสียเลือดจำนวนมากของหญิงตั้งครรภ์ภายหลังการคลอด เกิดได้ทั้งจากการคลอดทางช่องคลอด และการผ่าตัดคลอด ภาวะตกเลือดหลังคลอดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท 1) “ภาวะตกเลือดหลังคลอดปฐมภูมิ” จะเกิดภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด พบได้ประมาณ 1 – 5% ของการคลอด 2) “ภาวะตกเลือดหลังคลอดทุติยภูมิ” จะเกิดหลัง 24 ชั่วโมงไปแล้ว แต่ไม่เกิน 12 สัปดาห์หลังคลอด  พบได้ประมาณ 0.5 – 2% ของการคลอด สาเหตุของการตกเลือด ส่วนใหญ่เกิดจากมดลูกหดรัดตัวไม่ดีภายหลังการคลอด มีความเสี่ยงในรายที่มดลูกขยายตัวมากกว่าปกติ เช่น ครรภ์แฝด ส่วนสาเหตุอื่นๆ เกิดจากการฉีกขาดของช่องทางคลอด หรือมีชิ้นส่วนของรก หรือเยื่อหุ้มรกเหลือค้างในมดลูก หรือมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ซึ่งอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณของเลือดที่สูญเสีย เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ หายใจถี่ กระสับกระส่าย หมดสติ หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้ สำหรับการรักษานั้นขึ้นกับสาเหตุของการตกเลือด เช่น ถ้าเกิดจากการหดรัดตัวของมดลูกไม่ดี รักษาโดยการใช้มือนวดมดลูกผ่านทางหน้าท้องส่วนล่างร่วมกับการใช้ยาช่วยให้มดลูกหดรัดตัว  ถ้าเลือดออกรุนแรงมาก อาจจำเป็นต้องได้รับเลือด และกรณีที่ไม่สามารถหยุดเลือดได้ ก็จำเป็นต้องตัดมดลูก เพื่อรักษาชีวิตของคุณแม่ตั้งครรภ์ไว้ โรคซึมเศร้าหลังคลอด (postpartum depression) ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการภายใน 1 เดือนหลังคลอด คุณแม่จะรู้สึกเศร้า แย่ สิ้นหวัง หงุดหงิด เกือบตลอดทั้งวัน ไม่มีความรู้สึกสนุก หรืออยากทำในสิ่งที่ก่อนหน้านี้เคยชอบทำ ในคุณแม่บางคนอาจมีอาการในระดับน้อย เรียกว่า postpartum blues ซึ่งจะเกิด 2-3 วันหลังคลอด โดยจะมีอาการอารมณ์ไม่ดี กระสับกระส่าย กังวลใจ ไม่มีสมาธิ มีปัญหาการนอนหลับ ร้องไห้ฟูมฟาย ซึ่งอาการเหล่านี้จะไม่รุนแรง และหายไปใน 2 สัปดาห์ อาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอด อาจมีอาการบางอย่างคล้ายกับภาวะเครียดทั่วๆ ไปของคุณแม่หลังคลอดที่จะต้องเป็นคุณแม่คนใหม่ เช่น นอนน้อยเกินไป เหนื่อย หมดแรง มีการเปลี่ยนแปลงของความอยากอาหาร หรือความต้องการทางเพศ แต่ในกรณีที่มีโรคซึมเศร้าหลังคลอดร่วมด้วย จะมีความรู้สึก กังวลใจ กระสับกระส่าย ฉุนเฉียว รู้สึกผิด ไม่สามารถจะดูแลลูกได้ รู้สึกล้มเหลวในการเป็นแม่ หากมีความรู้สึกรุนแรงถึงขั้นอยากทำร้ายตัวเอง หรืออยากฆ่าตัวตาย ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว “เพราะช่วงเวลาหลังคลอดเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับคุณแม่ทุกคน  ทั้งนี้คุณแม่แต่ท่านละท่านอาจจะมีอาการหลังคลอดที่แตกต่างกันออกไป หากท่านใดที่มีปัญหาหรือมีความกังวล คุณหมอขอแนะนำให้เข้ามาปรึกษาสูตินรีแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษาแนะนำที่เหมาะสมกับท่าน ซึ่งอาจมีตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรักษาด้วยยา หรือการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้คุณแม่มีสุขภาพที่แข็งแรง มีความพร้อมและสามารถดูแลลูกน้อยได้อย่างมีความสุขค่ะ” พญ. ภัทรพร กล่าวทิ้งท้าย ************************************************************************** สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ :  โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน โทร. 032-616-884  (8.00 – 17.00 น.) แผนกสูตินรีเวช ชั้น 3 Line : @bangkokhuahin หรือ https://lin.ee/5tso2l0