หย่อนสมรรถภาพทางเพศ... รู้ไว รักษาได้เร็ว
            ปัจจุบันพบว่าผู้ชายมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction) มากขึ้น โดยอายุน้อยกว่า 40 ปี พบได้ร้อยละ 1-10 ส่วนอายุ 40 – 69 ปี พบได้ร้อยละ 15 – 40 และผู้ที่อายุมากกว่า 70 ปี พบได้มากถึงร้อยละ 50 – 100  ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ เช่น ความมั่นใจในตัวเองลดลง มีกิจกรรมทางเพศลดลง และทำให้มีปัญหาเรื่องชีวิตคู่             นพ. การันต์ หริมเทพาธิป ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หมายถึง การที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้อย่างเพียงพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ หรือบางรายอาจจะแข็งตัวได้ไม่นาน โดยผู้ที่มีภาวะเสี่ยงในการเกิดโรค ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคซึมเศร้า โรคอ้วน ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ  ผู้ที่เคยผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน ผ่าตัดหลัง ผ่าตัดต่อมลูกหมาก ผ่าตัดท่อปัสสาวะ ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุที่กระดูกสันหลัง อุ้งเชิงกราน และที่อวัยวะเพศ ผู้ที่ทานยาบางชนิด เช่น ยาโรคความดันโลหิตสูงบางตัว ยาโรคจิตเภท ยาโรคซึมเศร้า ยาต่อมลูกหมากบางตัว เป็นต้น สาเหตุของการเกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ แบ่งได้เป็น 4 สาเหตุ คือ
  1. ความผิดปกติที่เส้นเลือดในอวัยวะเพศ พบได้ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วย คือ
  • เส้นเลือดแดงที่เข้าไปเลี้ยงอวัยวะเพศอุดตัน ทำให้เลือดเข้าไปเลี้ยงอวัยวะเพศได้ไม่เพียงพอ
  • ความผิดปกติกลไกของการกดทับเส้นเลือดดำ ทำให้เลือดไม่สามารถกักเก็บในอวัยวะเพศได้
  • มีความผิดปกติร่วมกันระหว่างเส้นเลือดแดงอุดตัน และกลไกการกดทับเส้นเลือดดำผิดปกติ
  1. ความผิดปกติที่ระบบประสาท อาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติที่สมอง อุบัติเหตุหรือความพิการที่เส้นประสาทไขสันหลัง หรือผู้ที่เคยผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกรานมาก่อน ความผิดปกติที่เส้นประสาทที่อวัยวะเพศ รวมถึงผู้ป่วยที่มีเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบจากเบาหวาน
  2. ความผิดปกติของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งอาจจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความรู้สึกและความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศแข็งตัวลดลงโดยเฉพาะในตอนเช้า รู้สึกไม่มีแรง อ่อนเพลีย ความตั้งใจในการทำงานลดลง หรืออาจจะพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูงหรือต่ำกว่าปกติ
  3. ความผิดปกติของภาวะทางจิตใจ ในอดีตมีความเชื่อว่า 90% ของผู้ป่วยที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศเกิดจากภาวะทางจิตใจ แต่ปัจจุบันพบว่า เกิดจากโรคทางกายมากกว่าโรคทางจิตใจ แต่ภาวะทางจิตใจที่ส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย และสามารถพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะความเครียด โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท หรืออาจเกิดจากยาทางด้านจิตเวช
การตรวจและการวินิจฉัย แพทย์จะทำการซักประวัติเรื่องลักษณะการมีเพศสัมพันธ์ การเจ็บป่วย ผ่าตัดในอดีต โรคประจำตัว ยาที่ใช้อยู่เป็นประจำ และทำการตรวจร่างกาย เพื่อประเมินความผิดปกติที่อวัยวะเพศ ขนาดของลูกอัณฑะ และตรวจดูต่อมลูกหมากในบางราย จากนั้นแพทย์จะทำการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม เพื่อดูโรคประจำตัวที่อาจส่งผลให้เกิดโรค เช่น น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด การทำงานของตับและไต ตรวจคัดกรองหามะเร็งต่อมลูกหมาก และตรวจหาระดับฮอร์โมนเพศชาย ในผู้ป่วยที่มีความต้องการทางเพศลดลงด้วย นอกจากนี้แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติม โดยส่งตรวจอัลตราซาวน์เพื่อหาความผิดปกติในเส้นเลือดของอวัยวะเพศ (Penile Doppler Ultrasound) ซึ่งจะตรวจในผู้ป่วยบางกรณีที่มีปัญหาขั้นรุนแรง โดยเป็นการตรวจวัดการทำงานของเส้นเลือดแดง และเส้นเลือดดำในอวัยวะเพศ เพื่อหาสาเหตุและทางเลือกในการรักษาอื่นๆ การรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ แพทย์จะเริ่มด้วยการให้คำแนะนำ และการควบคุมรักษาโรคประจำตัว หรือภาวะเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรค เช่น ควบคุมน้ำตาล ไขมันในเลือด และความดันโลหิต งดสูบบุหรี่ ดื่มสุรา นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการลดน้ำหนัก จากนั้นจะมีการปรับเปลี่ยนยาบางตัวที่มีผลต่อภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หากผู้ป่วยมีความผิดปกติทางภาวะจิตใจ อาจมีการรักษาร่วมกับจิตแพทย์ ในผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย จะให้รักษาโดยการให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน ซึ่งปัจจุบัน มีทั้งรูปแบบ ฉีด รับประทานยา และทายา สำหรับการรักษาเฉพาะที่ ได้แก่
  1. การรักษาโดยการใช้ยารับประทาน โดยจะต้องรับประทานก่อนมีเพศสัมพันธ์ ประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง และยาในกลุ่มนี้ผลข้างเคียง เช่น ใจสั่น ปวดศีรษะ เห็นแสงวูบวาบ คัดจมูก เป็นต้น
  2. การใช้กระบอกสุญญากาศ (Vacuum Device) โดยการใช้กระบอกสุญญากาศครอบที่อวัยวะเพศ หลังจากนั้นก็สูบอากาศออกจากท่อ ทำให้เลือดเข้าไปในอวัยวะเพศจนอวัยวะเพศแข็งตัวได้ดี หลังจากนั้นจึงใช้ยางรัดเพื่อไม่ให้เลือดไหลออก ข้อควรระวัง คือ ไม่รัดนานเกินไป เนื่องจากจะทำให้ เลือดคั่งบริเวณอวัยวะเพศได้
  3. การใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำ (Shockwave Therapy) กระแทกในเนื้อเยื่อของอวัยวะเพศ พบว่าช่วยให้มีการสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นในอวัยวะเพศ ทำให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้ดี ทำให้เกิดการฟื้นฟูและรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเลือดไปเลี้ยงอวัยวะเพศไม่เพียงพอ รวมถึงในผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือในผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการทานยาเพื่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ แล้วไม่ต้องการทานยาประจำ วิธีการคือ ใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำแบบแรงกระแทกจากภายนอกไปบนอวัยวะเพศ รักษา 1 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นเวลาติดต่อกัน 6 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้พบว่าไม่มีอาการปวดขณะที่ทำ และไม่พบผลข้างเคียงในระหว่างและหลังการรักษาแต่อย่างใด จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถใช้ร่วมกับการใช้ยาได้
  1. การรักษาโดยการใช้ยาฉีด เข้าไปในอวัยวะเพศโดยตรง ก่อนมีเพศสัมพันธ์ 5 – 10 นาที ซึ่งสามารถทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้ประมาณ 1 ชั่วโมง และวิธีการใช้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ
  2. การรักษาโดยการผ่าตัด เป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษาผู้ป่วยหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นการผ่าตัดใส่แกนอวัยวะเพศเทียมเข้าไปในอวัยวะเพศโดยตรง มีทั้งแบบใส่แกนอวัยวะเพศเทียม และการใส่อวัยวะเพศเทียมรูปแบบปั้ม ใช้ในกรณีที่รักษาโดยวิธีการอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วไม่ได้ผล
นอกจากนี้ นพ. การันต์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า อาจจะมีคุณผู้ชายที่มีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือคู่สมรสบางรายที่ไม่รู้สึกเดือดร้อน เมื่อไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่อย่างไรก็ตามคนไข้ที่มีปัญหานี้เป็นข้อบ่งชี้ว่า อาจจะเกิดจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ดังนั้นแม้ว่าไม่ต้องการจะมีเพศสัมพันธ์แล้ว หากคุณผู้ชายมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ คุณหมอแนะนำก็ว่าควรจะได้รับการตรวจเช็คสุขภาพและรับคำปรึกษาที่เหมาะสม ************************************************************************** สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ :  โทร. 032-616-880  (7.00 – 19.00 น.) แผนกบริการผู้ป่วยนอก ชั้น 1 โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน Line : @bangkokhuahin หรือ https://lin.ee/5tso2l0