“ท้องร่วงในเด็ก” เป็นแค่ไหนถึงต้องพามาหาหมอ
ท้องร่วง หรือ ท้องเสีย หมายถึงภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลวมากขึ้น จำนวนมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้งต่อวัน หรือในกรณีที่สามารถวัดปริมาณอุจจาระได้ คือ อุจจาระเกิน 10 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ในเด็กทารกหรือเด็กเล็ก  หรืออุจจาระเกิน 200 กรัมต่อวัน ในเด็กโตและผู้ใหญ่ โดย นายแพทย์ ดนัย อดุลยศักดิ์ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า สาเหตุของโรคท้องร่วงเฉียบพลันในเด็กมักเกิดจากการติดเชื้อเป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยที่เกิดจากสาเหตุอย่างอื่น เช่น ยาปฏิชีวนะ อาการไม่พึงประสงค์ของยาบางชนิด หรือเกิดจากการกินอาหารบางชนิด การติดเชื้อเหล่านี้สามารถติดต่อได้โดยตรงจากคนสู่คน จากอาหารหรือน้ำดื่มปนเปื้อนเชื้อโรคหรืออุจจาระ และมีการหยิบกินเข้าปาก ปัจจัยที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเกิดโรคท้องร่วงได้มากขึ้น เช่น สุขอนามัยไม่ดี ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ทุพโภชนาการ  ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน ทารกที่ไม่ได้รับนมแม่ในช่วงแรกของชีวิต และสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ทำให้มีโอกาสรับเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น เช่น อาศัยในชุมชนแออัด เป็นต้น เมื่อเด็กเริ่มมีอาการท้องร่วง ควรให้มีการทดแทนด้วยการให้กินน้ำเกลือแร่ โดยไม่ต้องรอให้มีการขาดน้ำก่อน แต่จะต้องอ่านฉลากวิธีการผสมให้ดี ทำให้ถูกต้อง สำหรับเด็กเล็กแนะนำให้ป้อนครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ เช่น อาจจะป้อนทุก 1 นาที ครั้งละ 5 ซีซี ถ้าป้อนเร็วไปลำไส้อาจจะดูดซึมไม่ทันทำให้ท้องร่วงเพิ่มมากขึ้นได้ ในกรณีที่กินนมแม่แนะนำให้กินต่อ ถ้ากินนมผสมอยู่แล้วกินต่อได้ ไม่ต้องผสมให้เจือจางลง สำหรับเด็กโตให้ทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุป ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลมาก เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ อาหารมัน ไม่แนะนำให้ทานยาเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของลำไส้  เพราะจะทำให้มีเชื้อโรคค้างในลำไส้ ถ้าเชื้อโรครุนแรงอาจจะแพร่เข้าสู่ร่างกายได้ สำหรับกรณีต่อไปนี้ควรที่จะพามาพบแพทย์ ได้แก่ เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน เพื่อให้แพทย์ประเมินการขาดน้ำและตรวจดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต อาเจียนมาก กินน้ำเกลือแร่ทดแทนไม่ได้ ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำจำนวนมาก  มากกว่า 5-8  ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง มีไข้สูงหรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดซึ่งอาจจะเกิดจากการติดเชื้อรุนแรง หรือมีภาวะขาดน้ำมาก เช่น ซึม อ่อนเพลีย กระวนกระวาย กระหายน้ำมาก ริมฝีปากแห้งมาก ร้องไห้น้ำตาไม่ไหล เป็นต้น สำหรับการป้องกันโรคท้องร่วงในเด็กนั้นจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคได้ ซึ่งประกอบด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้วัคซีนป้องกันเชื้อโรต้าไวรัส การล้างมือและดื่มน้ำสะอาด   การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อในทารก ช่วยลดความชุกของโรคท้องร่วงได้ดีที่สุด แนะนำให้นมแม่อย่างเดียวเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน สำหรับการให้วัคซีนป้องกันเชื้อโรต้าไวรัส ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง พบว่าสามารถลดอัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคท้องร่วงจากเชื้อโรต้าไวรัสได้ ลดอัตราการเสียชีวิต  ที่สำคัญจะต้องมีการล้างมือก่อนและหลังสัมผัสอาหาร หลังจากขับถ่ายหรือสัมผัสสิ่งปฏิกูล มีการทำความสะอาดขวดนม จุกนมอย่างถูกวิธี “แต่อย่างไรก็ดีหากเด็กมีอาการท้องร่วงมากขึ้น อาการไม่ดีขึ้น อาการแย่ลง มีอาการสงสัยจะขาดน้ำรุนแรงหรือสงสัยมีการติดเชื้อรุนแรงดังที่กล่าวข้างต้นนั้น ผู้ปกครองไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาจนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้ ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม” นพ.ดนัย กล่าวทิ้งท้าย ************************************************************************** สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ :  โทร. 032-616-883  (8.00 – 17.00 น.) คลินิกกุมารเวช ชั้น 3 โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน Line : @bangkokhuahin หรือ https://lin.ee/5tso2l0