อย่าให้อาการหลงลืม เป็นจุดเริ่มต้นของ “การสูญเสียความทรงจำ”
โรคสมองเสื่อม (Dementia) เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุทั่วโลก ประมาณร้อยละ 90 พบในอายุ 60-65 ปี และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยมีอาการเริ่มต้นจากการมีภาวะความจำถดถอยเล็กน้อย และใช้เวลานาน 4-5 ปี กว่าจะทราบว่าผู้ป่วยเกิดภาวะสมองเสื่อม มีผลกระทบทำให้มีปัญหาด้านความจำผิดปกติ หลงลืม ถามซ้ำๆ จำเหตุการณ์ไม่ได้ มีอารมณ์หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป  ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ และอาจทำให้มีความผิดปกติในการใช้ภาษา การคำนวณ ความคิด ความเข้าใจ อย่างไรก็ตามภาวะสมองถดถอยไม่ได้เกิดแต่ในผู้สูงอายุเท่านั้น ในผู้ที่อายุน้อยก็อาจเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน เรียกว่า ภาวะสมองเสื่อมก่อนวัย ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากโรคทางพันธุกรรม โรคสมองเสื่อมฟรอนโตเทมพอรัล (Frontotemporal Dementia) หรือภาวะอื่นๆ เช่น โรคการติดเชื้อของสมอง การได้รับสารพิษต่างๆ หรือจากโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น โดย แพทย์หญิงอินทิพร เมธาสิทธิ์ แพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทและสมอง ผู้เชี่ยวชาญโรคสมองเสื่อม (Behavioral Neurology) โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า “ผู้ป่วยที่เริ่มมีภาวะความจำถดถอย อาจจะมีอาการหลงลืมเพียงเล็กน้อยแต่จะยังไม่มีความผิดปกติในการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน จึงมีความสำคัญที่ผู้ป่วยเหล่านี้ควรได้รับการวินิจฉัยโรคนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะการสืบหาสาเหตุ และให้การรักษาด้วยยา ช่วยชะลอการดำเนินโรคหรืออาจจะป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมตามมาได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งผู้ดูแลผู้ป่วยมีความเข้าใจโรคได้ดีขึ้น มีการดูแลอย่างองค์รวมและเน้นการฝึกพัฒนาสมอง (Cognitive Training) ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษามากกว่าการรักษาในขณะที่มีอาการของภาวะสมองเสื่อมรุนแรงแล้ว” สาเหตุของสมองเสื่อม ที่พบบ่อยมี  2  ชนิด ได้แก่
  1. โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s  Disease)  เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุดของภาวะสมองเสื่อม  เกิดจากการเสื่อมสภาพของเซลล์สมอง  และไม่สามารถรักษาให้หายได้  แต่สามารถดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
  2. โรคหลอดเลือดสมอง (Vascular  Dementia)  พบบ่อยเป็นอันดับที่สองของอาการสมองเสื่อม จะเกิดจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทั้งจากชนิดหลอดเลือดแตก ตีบ หรืออุดตัน  ทำให้สมองส่วนนั้นมีความผิดปกติ  สาเหตุหลักของโรคนี้  คือ  โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง และการสูบบุหรี่
ความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อม  แบ่งได้เป็น  4  ระยะ  ระยะที่ 1 ภาวะสมองเสื่อมระยะต้น (Mild)  เป็นระยะที่มีอาการน้อย บางครั้งญาติอาจจะไม่สังเกต แต่ผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติทางอารมณ์ที่เปลี่ยนไป หรือบุคลิกและความสนใจรอบด้านลดลง เช่น ถามซ้ำๆ เฉยเมย หรือเสียใจง่าย เป็นต้น ในระยะนี้ผู้ป่วยยังสามารถอยู่คนเดียว พึ่งตนเอง สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เอง มีความคิดและการตัดสินใจค่อนข้างดี ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ระยะที่ 2 ภาวะสมองเสื่อมระยะกลาง (Moderate) ผู้ป่วยมีความบกพร่องในเรื่องความเข้าใจ  ความสามารถในการเรียนรู้ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ เช่น การคำนวณ การกะระยะทาง ไม่สามารถเปิดโทรทัศน์ได้ ทั้งๆ ที่เคยทำมาก่อน หรือยืนดูน้ำก้นอ่างเฉยๆ เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ลืมแม้กระทั่งชื่อคนในครอบครัว ช่วงท้ายระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการทางจิต เช่น ประสาทหลอน การอยู่ตามลำพังอาจเป็นอันตราย และจำเป็นต้องได้รับการดูแล ระยะที่ 3 ภาวะสมองเสื่อมระยะรุนแรง (Severe) ผู้ป่วยจำสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลย  กินข้าวแล้วเพียงไม่กี่นาทีก็บอกว่ายังไม่ได้กิน  ทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ด้วยตัวเอง  จำญาติพี่น้องหรือแม้แต่ตนเองก็จำไม่ได้  มักเดินหลงทางในบ้านตนเอง บุคลิกภาพเปลี่ยนไป เคลื่อนไหวช้า เดินช้า กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้ อาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ถึงชีวิต ระยะที่ 4 ภาวะสมองเสื่อมระยะติดเตียง (Profound) เป็นระยะที่ผู้ป่วยเคลื่อนไหวตัวเองไม่ได้ มักนอนอยู่บนเตียงเท่านั้น และอาจจะมีภาวะผิดปกติถึงขั้นลืมการกลืนอาหาร จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงโดยสิ้นเชิง โดยแต่ละระยะของโรคสมองเสื่อมจะใช้เวลาดำเนินโรคประมาณ 3-5 ปี แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 20 ปี หลังได้รับการวินิจฉัย ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของการตรวจเจอโรค และการดูแลเป็นสำคัญ การตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม  แพทย์เฉพาะทางระบบประสาทและสมอง จะเป็นผู้ให้การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมโดยอาศัยข้อมูลจากประวัติ ระยะเวลาเป็นโรค อาการ อาการแสดง ประวัติครอบครัว การตรวจร่างกายทางระบบประสาทโดยละเอียด และการสืบค้นหาสาเหตุของโรคดังกล่าว  ซึ่งอาจประกอบด้วย การเจาะเลือด การตรวจภาพเนื้อสมองโดยระบบคอมพิวเตอร์ (CT/MRI Brain) การตรวจภาพการทำงานของสมอง (PET Scan) การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram) การเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง หรือ การตรวจชิ้นเนื้อสมองโดยการผ่าตัดพิสูจน์ ฯลฯ เพื่อการวางแผนการรักษาในผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม “แนวโน้มโลกปัจจุบันมีประชากรสูงอายุจำนวนมากขึ้น ทำให้ภาวะความจำถดถอย หรือ ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่พบบ่อยขึ้นด้วย  แม้จะเป็นโรคที่ยากจะรักษาให้กลับมาเป็นปกติ แต่จำเป็นต้องหาสาเหตุ และควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงทีในระยะแรกจะทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัว ชะลอการเสื่อมของสมองได้ ประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยสามารถรักษาให้กลับมาดีหรืออาจจะทำให้โรคไม่เป็นมากขึ้นได้ ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการหลงลืม ผิดปกติด้านความจำ หรืออาการที่เกี่ยวข้องกับสมอง คนในครอบครัวควรพามาพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา และตรวจคัดกรองภาวะสมองเสื่อมแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลามเพิ่มมากขึ้น และได้รับการรักษาที่เหมาะสมกับอาการของแต่ละท่าน” พญ. อินทิพร กล่าวทิ้งท้าย ************************************************************************** สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ :  โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน โทร. 032-616-880  (7.00 – 19.00 น.) แผนกบริการผู้ป่วยนอก ชั้น 1 Line : @bangkokhuahin หรือ https://lin.ee/5tso2l0